spot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แอมโมเนีย : เรียนรู้การทำงานอย่างความปลอดภัย และ อันตรายจากสารแอมโมเนีย

แอมโมเนีย

แอมโมเนีย (อังกฤษ: ammonia) เป็นสารเคมีที่นิยมอย่างมากในการนำไปใช้กับกระบวนการผลิต แอมโมเนียนั้นจัดได้ว่าเป็นสารเคมีอันตรายตามรายชื่อที่กฎหมายกำหนด ผู้ที่นำสารเคมีดังกล่าวเข้ามาไว้ในครอบครองจะต้องมีมาตรการต่างๆตั้งแต่การจัดเก็บอย่างถูกวิธี การใช้งานอย่างปลอดภัย และ มีมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

ผู้ที่ใช้งานแอมโมเนียจะต้องมีระบบบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย หรือ แอมโมเนียปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ปราศจากโรคจากการทำงาน และ ทำการตรวจสุขภาพลูกทุกคนที่ทำงานกับสารแอมโมเนีย AMMONIA ตรวจสุขภาพลูกจ้างตามปัจจัยเสี่ยงประจำปีอย่างต่อเนื่อง แอมโมเนีย AMMONIA จัดเป็นสารเคมีอันตรายตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556
ลำดับที่ 50 และ ยังเป็นวัตถุอันตราย ตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556

การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สารเคมี แอมโมเนีย

สารเคมีอันตรายคืออะไร

สารเคมีอันตราย หมายความว่า ธาตุ สารประกอบ หรือสารผสม ตามบัญชีรายชื่อที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเส้นใย ฝุ่น ละออง ไอ หรือฟูม ที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน ดังต่อไปนี้

  • มีพิษ กัดกร่อน ระคายเคือง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ การก่อมะเร็ง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือสุขภาพอนามัย หรือทำให้ถึงแก่ความตาย
  • เป็นตัวทำปฏิกิริยาที่รุนแรง เป็นตัวเพิ่มออกซิเจนหรือไวไฟ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระเบิดหรือไฟไหม้นอกจากคุณสมบัติที่กำหนดแล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่า สารเคมีที่อยู่ในครอบครองเป็นสารเคมีอันตราย

 

คุณสมบัติ แอมโมเนีย

คุณสมบัติ แอมโมเนีย

  • มีสถานะเป็นก๊าซ
  • ไม่มีสี
  • มีกลิ่นฉุนรุนแรง
  • ถ้าอยู่ภายใต้ความดัน และ อุณหภูมิต่ำจะมีสถานะเป็นของเหลว ที่อุณหภูมิ -33.4°C
  • เสถียรที่อุณหภูมิปกติแต่จะสลายตัวให้ไนโตรเจนและไฮโดรเจนที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 450 – 500 °C ที่ความดันบรรยากาศ
  • มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ ค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) = 0.596 เทียบกับอากาศ = 1.000
  • สามารถละลายน้ำได้

 

sds ข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี

ก๊าซแอมโมเนียจะรวมตัวกับความชื้นในอากาศทำให้เกิดเป็นหมอกควันสีขาวของแอมโมเนียไฮดรอกไซด์ซึ่งหนักกว่าอากาศดังนั้นเมื่อแอมโมเนียรั่วไหลในอากาศจึงมีทั้งแอมโมเนียที่เบาและหนักกว่าอากาศอยู่ปนกัน หากต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของแอมโมเนียสามารถดูได้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (SDS หรือ MSDS : Material Safety Data Sheet)

ปริมาณแอมโมเนียเท่าไรถึงเป็นอันตราย

การปฏิบัติงานกับแอมโมเนียนั้นสามารถทำได้แต่ปริมาณความเข้มข้นของสารแอมโมเนียนั้นต้องอยู่ในขีดจำกัดความเข้มข้นไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2560

ได้กำหนดลิมิตขีดจำกัดความเข้มข้นของแอมโมเนียไว้: เฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ ไม่เกิน 50 ppm (ppm หมายถึง ส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร)

หมายเหตุ : “ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ” หมายถึง ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานปกติภายในสถานประกอบกิจการที่ลูกจ้างซึ่งมีสุขภาพปกติทำงาน สามารถสัมผัสหรือได้รับเข้าสู่ร่างกายได้ทุกวันตลอดเวลาที่ทำงานโดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อันตรายจากแอมโมเนีย

อันตรายจากแอมโมเนีย

แอมโมเนียจัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอันตรายจากแอมโมเนีย สามารถแบ่งตามการรับสัมผัสได้ดังนี้

การสัมผัสทางการหายใจ

การสูดดมแอมโมเนียเข้าไป มีความเป็นพิษสูง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ และทำให้ระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อจมูกและลำคอ ทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในปอดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (Pulmonary edema) มีอาการต่างๆ ได้แก่ ไอ หายใจลำบาก และ แน่นหน้าอก ซึ่งอาการต่างๆ เกิดขึ้นหลังจากสัมผัสสารเป็นเวลาหลายชั่วโมง และหากรับสัมผัสในระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้

การสัมผัสผิวหนัง 

การรับสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนัง สามารถกัดกร่อนทำให้ผิวหนังไหม้ เกิดแผลแบบถาวร แผลพุพองเนื้อเยื่อตาย และอาจเกิดการติดเชื้อได้ในกรณีที่รุนแรง การสัมผัสแอมโมเนียในสถานะของเหลวจะทำให้เกิดแผลไหม้จากความเย็นจัด (Cold burn)

การสัมผัสตา และสูดดม

เมื่อกระเด็นเข้าตาจะเกิดการกัดกร่อน ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแสบตา และอาจทำให้ตาบอดได้หากได้รับสัมผัสในระยะยาว เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ สามารถระคายเคืองและทำให้ทางเดินหายใจอักเสบ

 

การช่วยเหลือผู้สัมผัสสารแอมโมเนีย

การปฐมพยาบาลจากการรับสัมผัสแอมโมเนีย

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับสัมผัสแอมโมเนีย มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับผู้สัมผัสว่าได้รับสัมผัสโดยวิธีใด ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

การปฐมพยาบาลการสูดดมแอมโมเนีย

  1. รีบนำผู้ได้รับสัมผัสออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่พื้นที่โล่ง เหนือลม อากาศถ่ายเทสะดวก
  2. ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ
  3. ถ้าหายใจปกติ ให้คลายเสื้อผ้าออกให้หลวม ถ้าเหงื่อออกให้เช็ดตัว ถ้ารู้สึกตัวให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเย็น ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอดด้วยวิธีเป่าปาก
  4. หากหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียวหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมือบีบ

การปฐมพยาบาลการสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนัง

  1. รีบถอดเสื้อผ้า และ เครื่องประดับออก 
  2. ล้างด้วยน้ำสะอาดจำนวนมากและต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที  โดยให้น้ำไหลผ่าน
  3. กรณีสัมผัสแอมโมเนียและมีแผลไหม้จากความเย็นจัด ให้แช่หรือประคบด้วยน้ำอุ่น พร้อมทั้งใช้ผ้าสะอาดคลุมเอาไว้บริเวณแผลไหม้ แล้วรีบไปพบแพทย์

การปฐมพยาบาลการรับสัมผัสแอมโมเนียทางปาก

  1. ให้ดื่มน้ำมากๆ ห้ามล้วงคอหรือทำให้อาเจียน
  2. ถ้าหมดสติให้นอนหงาย เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง สังเกตการหายใจและจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ ถ้าหยุดหายใจต้องทำการปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต
  3. รีบนำส่งแพทย์

การปฐมพยาบาลแอมโมเนียสัมผัสดวงตา

  1. ถอดคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) และสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
  2. ตะแคงเอียงหน้า แล้วล้างตาด้วยน้ำสะอาดผ่านดวงตาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องล้างน้ำอย่างน้อย 30 นาที จากหัวตามาหางตาจนกว่าจะไม่เคืองตา 
  3. ห้ามขยี้ตา
  4. รีบไปพบแพทย์

วิธีการป้องกันอันตรายจากแอมโมเนีย

เนื่องจากแอมโมเนียเป็นสารเคมีที่มีอันตราย การใช้งานหรือการปฏิบัติงานจึงมีความจำเป็นต้องป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน ซึ่งการป้องกันอันตรายสามารถทำได้โดย

  • การป้องกันทางด้านวิศวกรรม โดยการใช้งานในที่มีการออกแบบระบบระบายอากาศเฉพาะที่ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสารเคมี
  • การป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน โดยการกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล PPE อย่างครบถ้วนตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน เช่น แว่นครอบตา ถุงมือกันสารเคมี อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หรือชุดป้องกันสารเคมี เป็นต้น

สรุป

แอมโมเนียมีทั้งคุณและโทษขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานมีการปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับแอมอย่างถูกต้องหรือไม่เราควรศึกษาข้อมูลการใช้งานแอมโมเนียตาม SDS เพื่อทราบถึงแนวทางการใช้งานรวมถึงการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ปฏิบัติงานกับแอมโมเนียควรมีความรู้ความเข้าใจและทำงานอย่างระมัดระวัง สวมใส PPE อย่างเหมาะสมตลอดการทำงานกับแอมโมเนีย

เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ :
* สงวนลิขสิทธิ์ทุกเนื้อหา และ ภาพประกอบของ Jorportoday สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

** กรณีมีการคัดลอกบทความของเราไปส่วนใดส่วนหนึ่ง โปรดติดลิงค์กลับมาที่หน้านี้เพื่อให้เครดิตกับเรา

Similar Articles

Special advertising

spot_img

Special Ads

spot_img

Ads.1

spot_img

Ads.3

spot_img

Ads.4

spot_img
spot_img

Ads.5

spot_img

Most Popular