Home » การจัดสวัสดิการให้พนักงานในองค์กรตามกฎหมายที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง

การจัดสวัสดิการให้พนักงานในองค์กรตามกฎหมายที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง

by Andrew Day
837 views

สวัสดิการ

พนักงานทุกคนในองค์กรล้วนแล้วต้องการที่อยากอยู่บริษัทที่มีสวัสดิการดี มีค่าตอบแทนสูง มีความมั่นคงกับชีวิต ซึ่งสวัสดิการของสถานประกอบการแต่ละที่จะมีความแตกต่างกันออกไป การจัดสวัสดิการที่ดีสามารถดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานในบริษัทนั้นมากขึ้นอย่างแน่นอน จากจุดนี้จึงทำให้ฝ่ายบุคคลจำเป็นจะต้องสืบค้นถึงสวัสดิการของบริษัทคู่แข่งหรือตลาดแรงงานโดยรอบในประเภทกิจการเดียวกันว่ามีสวัสดิการอะไรที่น่าสนใจเพื่อนำมาปรับไม่ให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหล (Brain Drain) พนักงานตำแหน่งสำคัญๆลาออกไปอยู่กับบริษัทคู่แข่งนั้นเอง

สวัสดิการในประเทศไทยจะแบ่งได้ 2 แบบ

  1. สวัสดิการตามกฎหมาย (Legal Welfare)
  2. สวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย (Special Welfare)

สวัสดิการ คือ

สวัสดิการ (Welfare) หมายถึง บริการ หรือ กิจกรรมที่สถานประกอบการนายจ้างจัดให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กร เพื่อขวัญกำลังใจ และ ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้นให้ได้รับความสะดวกสบายในการทำงาน เกิดความรู้สึกมีความมั่นคงในอาชีพนอกเหนือจากค่าจ้าง หรือ เงินเดือน

ใครเป็นผู้ดูแลสวัสดิการในสถานประกอบการ

การจัดสวัสดิการในสถานประกอบการจำเป็นต้องมีคณะกรรมการสวัสดิการ เมื่อมีลูกจ้างครบ 50 คน โดยคณะกรรมการสวัสดิการนั้น มาจากการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้ง ก็จะดำเนินการเหมือนการเลือกตั้งโดยทั่วไป จัดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้กำหนดเอาไว้ใน ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ โดยสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และ เมื่อมีคณะกรรมการสวัสดิการถูกต้องตามที่กำหนดแล้ว จะต้องมีการประชุม ซึ่งในการประชุมจะมีการพูดคุยเรื่องของสวัสดิการที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด เพื่อนำเสนอพิจารณาอนุมัติ ให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สวัสดิการตามกฎหมายต้องมีอะไรบ้าง

การจัดสวัสดิการในสถานประกอบการ ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องจัดให้กับผู้ปฏิบัติงานซึ่งสวัสดิการตามกฎหมาย ถูกกำหนดโดย กฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 ซึ่งในกฎกระทรวงฉบับนี้ จะพูดถึงสวัสดิการ ในเรื่องน้ำดื่ม ห้องน้ำ ห้องส้วม การปฐมพยาบาล และการรักษาพยาบาล ที่นายจ้างต้องจัดให้กับลูกจ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ต้องจัดให้มี

  • น้ำสะอาดสำหรับดื่ม 1 ที่ ต่อพนักงาน 40 คน เศษของ 40 คน ถ้าเกิน 20 คนให้ถือว่าเป็น 40 คน
  • ห้องน้ำและห้องส้วม โดยจะต้องแยกชายและหญิง และถ้ามีลูกจ้างที่เป็นคนพิการ ต้องจัดให้มีห้องน้ำสำหรับ

คนพิการโดยเฉพาะด้วย ซึ่งจำนวนห้องน้ำและห้องส้วม ถูกกำหนดโดย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งจำนวนห้องน้ำและห้องส้วม จะถูกแบ่งตามชนิดหรือประเภทของอาคาร แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กำหนดจำนวนไว้ดังตารางต่อไปนี้

ตารางเกณฑ์การกำหนดสุขา-สวัสดิการ

2.ต้องจัดให้มีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและรักษาพยาบาล

  • สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ อย่างน้อย 29 รายการ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ในกฎกระทรวงดังกล่าว
  • สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มี
  • เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล อย่างน้อย 29 รายการ
  • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อย 1 เตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
  • พยาบาลตั้งแต่ระดับเทคนิคขึ้นไป ประจำอย่างน้อย 1 คน ตลอดเวลาทำงาน
  • แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงในเวลาทำงาน
  • สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มี
  • เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล อย่างน้อย 29 รายการ
  • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อย 2 เตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
  • พยาบาลตั้งแต่ระดับเทคนิคขึ้นไป ประจำอย่างน้อย 2 คน ตลอดเวลาทำงาน
  • แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมงในเวลาทำงาน
  • ยานพาหนะพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลได้โดยเร็ว

3.นายจ้างอาจทำข้อตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่เปิด

บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถนำลูกจ้างส่งได้โดยเร็ว แทนการมีแพทย์ก็ได้ ซึ่งคำขออนุญาตใช้สถานพยาบาลแทนการจัดให้มีแพทย์ เราเรียกว่า แบบ กสว.1 และใบอนุญาตให้ใช้สถานพยาบาลแทนการจัดให้มีแพทย์ เราเรียกว่า แบบ กสว.2

สวัสดิการพนักงานนอกเหนือกฎหมาย

สวัสดิการพนักงานเป็นคำที่ครอบคลุมผลประโยชน์ และ บริการมากมายที่นายจ้างอาจเสนอให้กับพนักงานในองค์กร อาจรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวของพนักงานได้เช่นกันเพื่อเป็นแรงจุงใจในทุกมิติให้กับบุคลากรของบริษัทได้มีขวัญและกำลังใจ เพิ่มประสิทธิผล และ มีความสุขในการทำงานมากขึ้น

ตัวอย่างการจัดสวัสดิการนอกเหนือ เช่น

  • โบนัส
  • เบี้ยขยั้น
  • ค่าครองชีพ
  • เงินค่าเดินทาง
  • การประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิต
  • ประกันทันตกรรม
  • วันหยุดอื่นๆที่ได้รับค่าจ้าง
  • ห้องออกกำลังกาย
  • ค่าอาหาร

ประโยชน์ของการจัดสวัสดิการที่ดีในองค์กร

  1. ช่วยลดปริมาณการลาออกของพนักงาน (Employees Turnover)
  2. ภาพลักษณ์ของบริษัทที่ดีขึ้นทั้งภายใน และ จากภายนอกที่มองเข้ามาทำให้บริษัทดูมีความน่าเชื่อถือ
  3. เพิ่มแรงจุงใจในการทำงานของพนักงาน
  4. พนัหงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น
  5. ดึงดูดพนักงานเก่งๆจากบริษัทคู่แข่งได้

สรุป

สวัสดิการเป็นสิ่งที่สถานประกอบการมอบให้กับผู้ปฏิบัติงานนอกเหนือจากเงินเดือนเพื่อให้พนักงานในองค์กรทุกคนมีความสะดวกสบาย และ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สวัสดิการมีทั้งตามกฎหมาย และ ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ที่ดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการในสถานประกอบการ คือ คณะกรรมการสวัสดิการที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อมีลูกจ้างครบ 50 คน และต้องมีการประชุม เพื่อนำสวัสดิการที่มีอยู่ มาทบทวน ติดตาม ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่หากพบว่าควรมีการพัฒนาเพิ่มเติม ก็จะดำเนินการนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับเรา

logo Orderbride

เว็บไซต์บทความความปลอดภัยในการทำงาน ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ด้านความปลอดภัยของคุณในทุกวัน

เรื่องน่าสนใจ

@2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by Orderbride