spot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เรียนรู้ทุกเรื่อง : โครงการอนุรักษ์การได้ยิน และ ขั้นตอนจัดทำ Update ล่าสุด

โครงการอนุรักษ์การได้ยิน คือ

เสียงเป็นสิ่งที่เราใช้ในการสื่อสาร ทำให้เข้าใจตรงกัน แต่หากเสียงมีระดับที่ดังเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สัมผัสได้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำและกำหนดมาตรการในการป้องกันการสูญเสียการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในอดีตในทางกฎหมายใช้คำว่า

” ทำความเข้าใจกันก่อน… เดิมเรามักจะคุ้นชินคำว่าให้นายจ้างจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ แต่ปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้คำว่า “ ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ อยากจะเรียกอะไรก็ไม่ผิด เพราะบริบท ความหมายเดียวกัน

 

กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559  หมวด 3 เสียงกำหนดรายละเอียดต่อไปนี้

ข้อ 7 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงมิให้ลูกจ้างได้รับสัมผัสเสียงในบริเวณสถานประกอบกิจการที่มีระดับ

เสียงสูงสุด (peak sound pressure level) ของเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก (impact or impulse noise) เกิน 140 เดซิเบลเอ หรือได้รับสัมผัสเสียงที่มีระดับเสียงดังต่อเนื่องแบบคงที่  (continuous steady noise) เกินกว่า 115 เดซิเบลเอ

ข้อ 8 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงานในแต่ละวัน (Time Weighted Average – TWA) ไม่ให้เกินมาตรฐานที่กำหนด 

ซึ่งมาตรฐานระดับเสียงที่กำหนดให้ดูจาก ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน ประกาศในราชกิจนุเบกษา เมื่อ 26 มกราคม 2561

ข้อ 11 ในกรณีที่สภาวะการทำงานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไปให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ

 

OSHA อนุรักษ์การได้ยิน

มาตรฐานสากล OSHA โครงการอนุรักษ์การได้ยิน

OSHA standards or the Occupational Safety and Health Act of 1970. OSHA ได้มีความตระหนักถึงปัญหาเสียงดังที่ไม่ต้องการของผู้ปฏิบัติงานซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างอันตรายและโรคจากการทำงานให้ชาวอเมริกันในวงกว้างดังนั้น OSHA จึงได้กำหนดมาตรการด้าน อาชีวอนามัย และ ความปลอดภัย พัฒนามาตรฐานโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservation Standard) 29 CFR 1910.95, ออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงานกับเสียงดังที่เป็นอันตราย

OSHA กำหนดให้นายจ้างจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน เมื่อระดับเสียงที่สัมผัส 8 ชั่วโมงการทำงาน ตั้งแต่ 85 เดซิเบลขึ้นไป

ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์การได้ยินของ OSHA

  • ดำเนินการวางแผนตรวจสอบเสียงดังหรือเสียงรบกวนที่พนักงานรับสัมผัส
  • ออกประกาศนโยบายความมุ่งมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ดำเนินการควบคุมเสียงรบกวนทางด้านวิศวกรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อกำจัด หรือ ลดเสียงดังที่เป็นอันตราย
  • สนับสนุนอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล PPE ให้กับผู้ปฏิบัติงาน
  • จัดฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากเสียงดัง วิธีการปฏิบัติงาน และ การใช้ PPE ที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

เครดิต: 1 / 2

ป้ายเตือนพื้นที่เสียงดัง noise in the factory

ทำไมต้องจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับผลกระทบจากเสียงดังที่เป็นอันตรายสิ่งเหล่านี้ส่งผลทางตรงกับประสิทธิภาพการทำงาน และ ผลผลิตขององค์กร รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีเกิดการเจ็บป่วยจากการทำงานที่มีเสียงดัง

การจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อ 11 ของกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และ ดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559  หมวด 3 เสียง ถือเป็นความรับผิดชอบที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายของประเทศไทย

 

6 ขั้นตอน ทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน

ขั้นตอนการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน

วิธีการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินถูกกำหนดโดยประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการโดยกำหนดวิธีไว้ดังนี้ 

  1. มาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการต้องเป็นลายลักษณ์อักษร และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังนี้
  • นโยบายการอนุรักษ์การได้ยิน
  • การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring)
  • การเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring)
  • หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อมีการจัดทำแล้ว นายจ้างต้องประกาศมาตรการอนุรักษ์การได้ยินให้ลูกจ้างทราบ
  1. จัดให้มีการเฝ้าระวังเสียงดัง โดยการสำรวจและตรวจวัดระดับเสียง การศึกษาระยะเวลาการสัมผัสเสียงดัง และ ประเมินการสัมผัสเสียงดังของลูกจ้าง แล้วแจ้งผลให้ลูกจ้างทราบ
  1. จัดให้มีการเฝ้าระวังการได้ยินเสียงโดยดำเนินการ ดังนี้
  • ทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometric sting) แก่ลูกจ้างที่สัมผัสเสียงดังที่ได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป และต้องทดสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • เมื่อทราบผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินแล้ว ให้แจ้งลูกจ้างภายใน 7 วัน
  • กรณีที่พบว่าลูกจ้างสูญเสียการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งแต่ 15 เดซิเบลขึ้นไปที่ความถี่ใดความถี่หนึ่งให้ทดสอบสมรรถภาพการได้ยินซ้ำอีกครั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบผล
  • นำผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินครั้งต่อไปเปรียบเทียบกับผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินเป็นข้อมูลพื้นฐานทุกครั้ง

ppe ป้องกันเสียงดัง โครงการอนุรักษ์การได้ยิน

  1. หากพบว่าลูกจ้างสูญเสียการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งแต่ 15 เดซิเบล ต้องมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
  • ให้ลูกจ้างสวมใส่ PPE ที่สามารถลดระดับเสียงตลอดเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ให้น้อยกว่า 85 เดซิเบลเอ
  • เปลี่ยนงาน สลับหมุนเวียนหน้าที่ เพื่อให้ระดับเสียงตลอดเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ให้น้อยกว่า 85 เดซิเบลเอ
  1. จัดทำและติดแผนผังแสดงระดับเสียง (Noise Contour Map) ป้ายบอกระดับเสียงและเตือนอันตรายจากเสียงดัง รวมถึงป้ายเตือนให้ใช้ PPE
  2. อบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน

ความสำคัญของการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินอันตรายของเสียงดัง การควบคุม ป้องกัน และการใช้ PPE ให้กับลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่ที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลเอ ต้องประเมินผลและทบทวนการจัดการมาตรการอนุรักษ์การได้ยินไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้งและต้องเก็บหลักฐานการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี

หากต้องการศึกษาการจัดทำอย่างละเอียดสามารถดูได้จากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ

เสียงดังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

เสียงที่ดังเกินไปไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญแต่ยังส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆของร่างกายจนอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงบางชนิดได้โดยผลกระทบจากเสียงดังที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพมีดังนี้

  • ผลกระทบต่อการได้ยิน : ในหูของคนเรามีเส้นขนจำนวนมากทำหน้าที่รับเสียงและแปลงสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมอง ซึ่งเสียงที่ดังเกินไปจะทำให้เส้นขนได้รับความเสียหาย จึงทำให้มีปัญหาทางการได้ยิน และการได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานยังอาจทำให้เกิดโรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน หรือถึงขั้นหูหนวกได้
  • ผลกระทบต่อการนอน : เสียงที่ดังเกินไปจะกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงรู้สึกไม่ผ่อนคลายจนอาจทำให้นอนไม่หลับ และการพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ เป็นต้น
  • ผลกระทบต่อภูมคุ้มกัน : เสียงที่ดังเกินไปส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ซึ่งฮอร์โมนประเภทนี้จะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง
  • ผลกระทบต่อสมาธิและอารมณ์ความรู้สึก : หากต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงรบกวนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้สมาธิหรืออารมณ์ความรู้สึกได้ หากต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดังตลอดเวลา ส่งผลให้การใช้สมาธิไม่เต็มที่และไม่มีความสุขในการทำงาน
  • ผลกระทบต่อสมอง : เสียงที่ดังเกินไปจะทำลายปลายประสาทที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์รับเสียงภายในหูไปสู่สมอง เกิดความเสียหายจนอาจทำให้สมองเกิดการอักเสบ และการสูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดังเกินไป อาจนำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้

มาตรการการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง

การป้องกันอันตรายจากเสียงดังโดยทั่วไปมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การควบคุมที่แหล่งกำเนิดของอันตราย (Source) โดยใช้วิธีการทางด้านวิศวกรรม เช่น

  • การเลือกเครื่องมือ เครื่องจักร ที่มีเสียงรบกวนต่ำ
  • บำรุงรักษาและหล่อลื่นเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น ตลับลูกปืน
  • การใช้แผ่นดูดซับเสียง
  • ปิดหรือแยกแหล่งกำเนิดเสียง

การควบคุมที่ทางผ่าน (Path) โดยใช้วิธีการบริหารจัดการ

  • จำกัดระยะเวลาในการรับสัมผัสเสียง
  • จัดให้มีพื้นที่เงียบ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้พักจากอันตรายจากเสียงดัง เช่น ห้องเก็บเสียง
  • กำหนดระยะทางระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับแหล่งกำเนิดเสียงที่เหมาะสม

การควบคุมการรับสัมผัสเสียงโดยการกำหนดระยะห่างเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้เมื่อมีผู้ปฏิบัติงานอยู่แต่ไม่สามารถใช้ได้กับแหล่งกำเนิดเสียงหรืออุปกรณ์การเพิ่มระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงกับผู้ปฏิบัติงานสามารถลดการรับสัมผัสเสียงดังได้ 

การควบคุมที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receivers) โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

  • ให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ PPE ที่อุดหูหรือที่ครอบหูลดเสียง
  • อบรมให้ความรู้
  • ทำงานอย่างระมัดระวังไม่เข้าไปในที่ที่มีเสียงดัง

การควบคุมที่ตัวบุคคลนั้นถือเป็นตัวเลือกที่ยอมรับได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับวิธีป้องกันทางวิศวกรรม สถานประกอบการส่วนใหญ่นิยมวิธีป้องกันที่ตัวบุคคลเนื่องจากประหยัด ง่าย และ สะดวก

สรุป

การจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินมีการกำหนดวิธีการเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้นายจ้างสามารถทำได้อย่างถูกต้อง เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานอย่างสูงสุด เป็นการป้องกันการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน โรคจากการทำงาน และ ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถป้องกันตนเองจากอันตรายจากเสียงดังได้อย่างถูกต้อง

เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ :
* สงวนลิขสิทธิ์ทุกเนื้อหา และ ภาพประกอบของ Jorportoday สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

** กรณีมีการคัดลอกบทความของเราไปส่วนใดส่วนหนึ่ง โปรดติดลิงค์กลับมาที่หน้านี้เพื่อให้เครดิตกับเรา

Similar Articles

Special advertising

spot_img

Special Ads

spot_img

Ads.1

spot_img

Ads.3

spot_img

Ads.4

spot_img
spot_img

Ads.5

spot_img

Most Popular