spot_img
Ads.1spot_img
อบรม จป เทคนิค

บทนำ :

หากพูดถึงเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามที่กฎหมายประเทศไทยกำหนด ปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 5 ระดับดังนี้

  1. จป วิชาชีพ
  2. จป บริหาร
  3. จป เทคนิคขั้นสูง
  4. จป เทคนิค
  5. จป หัวหน้างาน

ทั้ง 5 ระดับนี้มีเพียง จป วิชาชีพ ที่จะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตร จป วิชาชีพ หรือ อาจจะจบหลักสูตรเทียบโอน จป วิชาชีพ นอกนั้นสามารถอบรมได้ แน่นอนว่าในปัจจุบันหลายคนสนใจอยากย้ายสายงานมาเป็น จป ซึ่งในบทความนี้จะแนะนำ จป ระดับ เทคนิค เป็นอีกตำแหน่งงานที่เนื้อหอม มีรายได้ดีอีกตำแหน่งที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

อบรม จป เทคนิค ต้องเรียนอะไรบ้าง

หลังจากที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่าเมื่อไหร่จะสามารถฝึกอบรมจป.เทคนิคได้วันนี้เรามีข่าวดีมาบอกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ได้มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักสูตรการฝึกอบรมคุณสมบัติวิทยากรและการดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคประกาศออกมาและเมื่อประกาศแล้วมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เรียกได้ว่ารวดเร็วทันใจกันเลยทีเดียววันนี้เราจะมาพูดถึงรายละเอียดที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้ว่ามีอะไรบ้าง

ตามที่กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากรหน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการพ.ศ. 2565 ข้อ 43 กำหนดให้นายจ้างหรือผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมดำเนินการฝึกอบรมเพื่อให้ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคทั้งนี้หลักสูตรการฝึกอบรมคุณสมบัติของวิทยากรการดำเนินการฝึกอบรมของนายจ้างหรือผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดซึ่งคำว่า “ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” จึงทำให้มีประกาศฉบับนี้ออกมาโดยมีรายละเอียดดังนี้

หมวด 1 หลักสูตรการฝึกอบรม

หลักสูตรฝึกอบรม จป.เทคนิค ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชั่วโมง ประกอบด้วย 6 หมวดวิชา ดังต่อไปนี้

  • หมวดวิชาที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระยะเวลาการฝึกอบรม 3 ชั่วโมง
  • หมวดวิชาที่ 2 กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระยะเวลาการ ฝึกอบรม 3 ชั่วโมง
  • หมวดวิชาที่ 3 การประเมินอันตรายจากการทำงาน ระยะเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง
  • หมวดวิชาที่ 4 การตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วยจากการทำงานและการปรับปรุงสภาพการทำงาน ระยะเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมง
  • หมวดวิชาที่ 5 การป้องกันและการควบคุมอันตรายจากการทำงาน ระยะเวลาการฝึกอบรม 3 ชั่วโมง
  • หมวดวิชาที่ 6 การฝึกปฏิบัติ ระยะเวลาการฝึกอบรม 9 ชั่วโมง 

ซึ่งในแต่ละหมวดวิชาจะระบุรายละเอียดหัวข้อวิชาเอาไว้ว่าในแต่ละหมวดวิชาจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง

เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็น จป.เทคนิค ได้อย่างเต็มความสามารถ โดยสามารถดูรายละเอียดได้จากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรม คุณสมบัติวิทยากร และการดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค

หมวด 2 คุณสมบัติของวิทยากร

การฝึกอบรมหลักสูตรจป.เทคนิควิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับหมวดวิชาที่ฝึกอบรม มีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้ การนับระยะเวลา 5 ปีหรือ 3 ปี ให้นับจากวันที่ขอความเห็นชอบหรือขอการรับรอง
  • เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับหมวดวิชาที่ฝึกอบรม และมีประสบการณ์การสอนด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปีนับจากวันที่ขอความเห็นชอบหรือขอการรับรอง
  • เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาในการเป็นวิทยากรฝึกอบรมที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้ การนับระยะเวลา 5 ปีหรือ 3 ปี ให้นับจากปีที่ขอความเห็นชอบหรือขอรับการรับรอง
  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมีความรู้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับหมวดวิชาที่ฝึกอบรม

ทั้งนี้ ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปี

ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักสูตรการฝึกอบรมคุณสมบัติวิทยากรและการดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคได้กำหนดคุณสมบัติของวิทยากรไว้ตามข้างต้นดังกล่าวหากนายจ้างต้องการจัดฝึกอบรมเองก็สามารถทำได้หากมีวิทยากรที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวไปข้างต้นแต่ก่อนการจัดฝึกอบรมจะต้องได้รับความเห็นชอบเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

หมวด 3 การจัดฝึกอบรมของผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรม

ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักสูตรการฝึกอบรมคุณสมบัติวิทยากรและการดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ 4 ข้อด้วยกันแต่เราจะไม่พูดถึงคุณสมบัตินั้นเพราะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการฝึกอบรมที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามที่กำหนดแต่เราในฐานะผู้ใช้บริการก่อนที่จะใช้บริการผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมจป.เทคนิคให้ขอดูเอกสารกภ.จป.ท 2 หรือใบรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคที่ออกโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งจะระบุรายชื่อวิทยากรและวันที่อนุญาตเอาไว้อย่างชัดเจนโดยเอกสารกภ.จป.ท 2 จะมีอายุ 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับการรับรอง

หมวด 4 การดำเนินการฝึกอบรม

การดำเนินการฝึกอบรมจป.เทคนิคสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบคือ

  1. นายจ้างจัดอบรมเอง

ให้แจ้งกำหนดการฝึกอบรม หลักสูตรการฝึกอบรม รายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมพร้อมรายชื่อและคุณสมบัติวิทยากร และเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ เพื่อให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 15 วันทำการก่อนการฝึกอบรม โดยแจ้งด้วยตนเองหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

  1. ใช้บริการผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

หากผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมเป็นผู้จัด จะมีข้อกำหนดมากกว่าที่นายจ้างจัดอบรมเอง โดยมีรายละเอียดดังนิ้ 

  • ให้แจ้งกำหนดการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรม รายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม พร้อมรายชื่อและคุณสมบัติวิทยากร และเอกสารหรือหลักฐานที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการก่อนการจัดฝึกอบรม โดยแจ้งด้วยตนเองหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
  • ห้องฝึกอบรม 1 ห้อง มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกิน 60 คน
  • จัดให้มีคู่มือประกอบการฝึกอบรม จัดเตรียมอุปกรณ์ สื่อและเอกสารประกอบการฝึกอบรมและสถานที่ที่ถูกสุขลักษณะให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
  • จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตร
  • ให้มีการประเมินผลทั้งก่อนและหลังการฝึกอบรม
  • ออกหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ระบุว่า “จัดฝึกอบรมโดยนายจ้าง” หรือ “จัดฝึกอบรมโดยผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมที่รับการรับรองหลักสูตรเลขที่…” ชื่อและนามสกุลผู้ผ่านการฝึกอบรม ชื่อหลักสูตร ระบุ “หลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ตามข้อ 43 แห่งกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 จำนวน 30 ชั่วโมง”
  • ระบุสถานที่ในการฝึกอบรม
  • ระบุวัน เดือน และปี ที่เข้ารับการฝึกอบรม
  • ลงนามโดยนายจ้างหรือผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรม และ ยังต้องจัดให้วิทยากรได้รับการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เพิ่มเติมไม่น้อยกว่าปีละ 12 ชั่วโมง

เมื่อผ่านการฝึกอบรมจป.เทคนิคแล้วก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นจป.เทคนิคถูกต้องตามกฎหมายโดยสามารถดูการขึ้นทะเบียนได้จากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องการแจ้งขึ้นทะเบียนการพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย