spot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

JSA คือ ขั้นตอนการวิเคราะห์อันตรายเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

JSA คือ

เมื่อพูดถึง JSA ในแวดวงด้านความปลอดภัยในการทำงาน (safety) บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินเกี่ยวกับเครื่องมือ (Tool) ที่ใช้ในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยซึ่ง JSA นั้นเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การการค้นหาความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงขององค์กรได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขององค์กร

การทำ JSA นั้นควรเน้นการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในทุกภาคฝ่ายต้องทำงานเป็นทีมเพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนการทำงานที่แท้จริง และวิธีการป้องกันอันตรายในขั้นตอนงานรวมไปถึงกำหนดมาตรควบคุมอันตรายต่างๆได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและครบถ้วน

JSA คืออะไร

 JSA ย่อมากจาก Job Safety Analysis หรือบางครั้งเรียกว่า JHA : Job Hazard Analysis 

คือ การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย เป็นวิธีการวิเคราะห์ขั้นตอนการทำงานทีละขั้นตอนเพื่อหาว่าในแต่ละขั้นตอนนั้นมีอันตรายอะไรบ้าง จากนั้นจึงหาวิธีการและหามาตรการป้องกันอันตรายในแต่ละขั้นตอนนั้นเอง ปัจจุบัน JSA เป็นเครื่องมือที่นิยมนำมาใช้ในทำขั้นตอนการทำงาน (WI) แต่ JSA นั้นยังไม่ใช่การประเมินความเสี่ยงเต็มรูปแบบเสียทีเดียวเป็นเพียงการวิเคราะห์อันตรายในแต่ละขั้นตอนของการทำงานเท่านั้น

JSA หรือ JHA นั้น จะวิเคราะห์อันตรายที่เกี่ยวข้องกับ

  • สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานเครื่องจักร หรือ อุปกรณ์ (Hard ware)
  • วิธีการปฏิบัติงาน (Soft ware)
  • ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Human ware)

เพื่อหาความเป็นอันตรายในแต่ละเรื่องโดยแยกขั้นตอนอย่างละเอียด จากนั้นก็หาวิธีการ จัดการป้องกัน หรือ ควบคุมความเสี่ยงอันตรายเหล่านั้นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยในทุกขั้นตอนการทำงาน

ขั้นตอนการทำ JSA

4 ขั้นตอนการทำ JSA มีอะไรบ้าง

ในการทำ JSA มีขั้นตอนพื้นฐานในการทำอยู่ 4 ขั้นตอน ซึ่งในการทำนั้น มีขั้นตอนดังนี้

  1. เลือกงานที่ต้องการวิเคราะห์ 
  2. แยกขั้นตอนการทำงานทั้งหมดในงานที่ต้องการวิเคราะห์ โดยแตกงานออกมาเป็นขั้นตอนย่อยๆ โดยทั่วไปแตกงานออกประมาณ 5 – 10 ขั้นตอน ซึ่งการแตกงานควรเริ่มต้นด้วยคำกริยาเสมอ เช่น เตรียม ยก หยิบ กด เป็นต้น 
  3.  ระบุอันตรายที่มีในขั้นตอนงานที่วิเคราะห์ ซึ่งขั้นตอนการระบุอันตรายในแต่ละขั้นตอนย่อยเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะหากวิเคราะห์ไม่ครอบคลุม อาจทำให้อันตรายยังคงแฝงอยู่ในขั้นตอนงานนั้น และอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งหากเราระบุอันตรายไม่ครบถ้วน จะส่งผลต่อขั้นตอนที่ 4 ด้วย ทำให้การหามาตรการควบคุม ป้องกัน ไม่ครบถ้วนตามไปด้วย
  4. หามาตรการป้องกันจากอันตรายที่ระบุจากขั้นตอนที่ 3 ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการพิจารณาหามาตรการป้องกันอันตรายที่ถูกระบุในขั้นตอนที่ 3 มาตรการที่กำหนดต้องครอบคลุมและเหมาะสมกับลักษณะของอันตรายที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดมาตรการป้องกันอันตราย มีข้อที่ต้องคำนึง ดังนี้
  • ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิต สินค้า หรือบริการ
  • ความคุ้มค่าในการลงทุนและความยาก – ง่าย 
  • ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา

ซึ่งจากขั้นตอนทั้ง 4 ขั้นตอนที่กล่าวมาสามารถจัดทำเป็นตารางง่ายๆให้ใช้วิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยได้หลายรูปแบบแล้วแต่ผู้จัดทำว่าต้องการตารางแบบไหนซึ่งตารางต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

ตัวอย่างแบบฟอร์มการชี้บ่งอันตรายด้วยวิธี JSA

แบบฟอร์มการชี้บ่งอันตรายด้วยวิธี JSA

การเลือกงานสำหรับทำ JSA ควรพิจารณาจากอะไร

ในขั้นตอนแรกของการทำ JSA คือ การเลือกงานที่เราต้องการวิเคราะห์ ซึ่งในการเลือกงานที่ต้องการวิเคราะห์ มีหลักในการเลือกงาน ดังนี้ 

  • เป็นงานที่มีความถี่หรือความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงหรือมีแนวโน้มไม่ลดลง โดยดูจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุย้อนหลัง 2-3 ปี ของสถานประกอบกิจการของเรา
  • เป็นงานที่มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยการเดินสำรวจเบื้องต้น ดูจากหน้างานจริง เพราะในบางครั้ง พนักงานอาจไม่แจ้งข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุที่มีการบันทึกไว้ ไม่ครบถ้วน
  • เป็นงานใหม่ หรือเป็นงานที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพิ่มเติม ในส่วนของวิธีการ กิจกรรม ขั้นตอน หรือเครื่องจักร / อุปกรณ์ 
  • เป็นงานที่มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก
  • เป็นงานที่มีขั้นตอนซับซ้อนระดับหนึ่งและเพียงพอในการนำไปเขียนวิธีการปฏิบัติงานเมื่อเรารู้หลักการเลือกงานที่ต้องการวิเคราะห์แล้ว ก็ลองเลือกงานในสถานประกอบกิจการของเรามาวิเคราะห์ดู หรือหากมีการวิเคราะห์ไว้อยู่แล้ว ก็ลองเอามาทบทวนดู ว่าในปัจจุบันการปฏิบัติงานในขั้นตอนนั้น ยังคงเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานแต่ JSA ของเราไม่ถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ก็จะทำให้งานที่เราวิเคราะห์ไม่ตรงตามความเป็นจริง และส่งผลให้มาตรการป้องกันและควบคุมอันตรายนั้น ไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย และที่สำคัญต้องทำให้ครบทุกงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

ใครบ้างที่ต้องทำ JSA

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่า JSA หรือ JHA นั้น เป็นเทคนิคการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ซึ่งคำว่า วิเคราะห์ หมายความว่า การใคร่ครวญ พิจารณา เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยการแยกแยะออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ถ่องแท้ การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยก็เหมือนกัน ต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนงาน เพื่อให้รู้ถึงอันตรายเพื่อหามาตรการป้องกันและควบคุมให้ถูกต้องเหมาะสม ขั้นตอนการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ต้องทำโดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน และ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

โดยอย่างน้อยจะต้องมี 3 ส่วนนี้ เพื่อให้การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ออกมาอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ปลอดภัย และสามารถปฏิบัติได้จริง เพราะหากเราวิเคราะห์ออกมาแบบสวยหรู แต่ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์ และไม่ปลอดภัยตามชื่อของหัวข้อด้วย เนื่องจากไม่สามารถทำได้จริงนั่นเอง ซึ่งบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย 3 ส่วน มีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้ปฏิบัติงาน 

เนื่องจากผู้ปฏิบัติงาน เป็นผู้ที่ทำงานจริง จึงต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยด้วย เพราะตัวพนักงานเอง จะรู้ถึงหน้างานจริงๆ ว่ามีอะไรบ้าง และหากผู้ปฏิบัติงานเอง ได้เข้ามากำหนดวิธีการทำงานและมาตรการป้องกันด้วยแล้ว จะทำให้มีความตระหนักมากขึ้น เนื่องจากตัวผู้ปฏิบัติงานเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง

  • หัวหน้างาน

หัวหน้างานมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานในหน่วยงาน และเป็นผู้ที่มีความรู้ในหน้างานของตนเอง จึงต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย เพราะหลังจากการวิเคราะห์แล้ว จะต้องนำไปจัดทำมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และหัวหน้างานต้องควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานทำตามที่กำหนดไว้

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป)

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือที่เราเรียกว่า จป. ต้องเข้าร่วมในการจัดทำ JSA ด้วยทุกครั้งเนื่องจาก จป.ต้องเป็นผู้กำหนดมาตรการป้องกันอันตราย ที่ถูกวิเคราะห์มาจากขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตัวผู้ปฏิบัติงาน  และจะต้องร่วมกันวิเคราะห์ กับผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน ว่าสิ่งที่เรากำหนดขึ้นมาสามารถทำได้จริงหรือไม่ หากพบปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไข ปรับปรุง ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ

ติดตั้งเซฟตี้การ์ดป้องกันอันตราย JSA

ประโยชน์ของการทำ JSA 

การจัดทำ JSA มีประโยชน์มากมายในเรื่องของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพราะ JSA คือ การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากเรามีการวิเคราะห์งาน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งประโยชน์ของ JSA มีดังนี้

  • ทำให้การกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยเหมาะสมกับอันตรายที่มีอยู่จริง เนื่องจากวิเคราะห์จากขั้นตอนการทำงานจริงๆ
  • ช่วยให้ผู้ควบคุมงานหรือพนักงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงาน อันตรายในงาน และมาตรการป้องกันในงานที่ทำมากขึ้น
  • เป็นกิจกรรมที่ช่วยผลักดันให้พนักงานระดับปฏิบัติการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย และยังเป็นการพัฒนาทัศนคติด้านความปลอดภัยที่ดีให้แก่พนักงาน เนื่องจากพนักงานมีส่วนร่วมวิเคราะห์งาน เมื่อเรานำผลการวิเคราะห์ไปจัดทำวิธีการปฏิบัติงาน ผู้ที่อยู่หน้างานก็พร้อมที่จะทำตาม เพราะตัวของพนักงานเองมีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการทำงานและมาตรการที่ปลอดภัยด้วย
  • นำผลการวิเคราะห์งาน ไปจัดทำข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อใช้ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน ตามคู่มือความปลอดภัย
  • นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง
  • นำผลการวิเคราะห์ไปปรับปรุงสภาพการทำงานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

การนำ JSA ไปประเมินความเสี่ยง

JSA นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการประเมินความเสี่ยง เป็นการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น แต่เราสามารถนำ JSA ไปประเมินความเสี่ยงต่อได้ โดยการเพิ่มตารางต่อท้ายเข้าไป ในตารางของ JSA ที่เราได้จัดทำไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

แบบฟอร์ม JSA การประเมินความเสี่ยง

ซึ่งเกณฑ์ที่เราใช้ในการประเมินความเสี่ยง เราอาจจะใช้การประเมินความเสี่ยงตามระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นแนวทาง แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสถานประกอบกิจการของเรา เพื่อให้เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงนั้นเหมาะสมกับความเป็นจริง ซึ่งในการประเมินความเสี่ยงนั้น ให้นำโอกาสมาคูณด้วยความรุนแรง ก็จะได้เป็นผลลัพธ์ของความเสี่ยงออกมา เพื่อนำไปกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงนั่นเอง

สรุป

JSA หรือ JHA  คือ การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย โดยในการจัดทำ JSA ต้องระบุขั้นตอนการทำงานให้ครบถ้วน ไม่น้อยหรือมากเกินไป และในการวิเคราะห์นั้นควให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน และ จป. และร่วมกันหามาตรการป้องกันอันตรายในแต่ละขั้นตอนที่ถูกระบุในว่าเป็นอันตราย ที่สำคัญการทำ JSA นั้นต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงโดยไม่ส่งผลต่อการผลิต สินค้าหรือบริการขององค์กร

เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ :
* สงวนลิขสิทธิ์ทุกเนื้อหา และ ภาพประกอบของ Jorportoday สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

** กรณีมีการคัดลอกบทความของเราไปส่วนใดส่วนหนึ่ง โปรดติดลิงค์กลับมาที่หน้านี้เพื่อให้เครดิตกับเรา

Similar Articles

Special advertising

spot_img

Special Ads

spot_img

Ads.1

spot_img

Ads.3

spot_img

Ads.4

spot_img
spot_img

Ads.5

spot_img

Most Popular